SETTRADE.COM - SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

Wednesday, May 6, 2009

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง - จงอย่าหมดศรัทธากับชีวิต - Part 2

ฝากข้อคิด “อย่าหมดศรัทธากับชีวิต”

ด้วยประสบการณ์ของชีวิตการทำงานที่มีอยู่มากมาย สวัสดิ์ให้ข้อคิดกับคนรุ่นใหม่ว่า “ไม่ ว่าชั่วโมงที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุดของชีวิตนี่ มันไม่สำคัญอะไรเลย สำคัญที่สุดคืออะไร วันไหนที่คุณหมดศรัทธาต่อสิ่งที่คุณเชื่อ คุณหมดศรัทธากับมันเมื่อไรนี่ คุณก็หมด จบ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีขนาดไหนก็ตาม

อย่าง ผมเชื่อว่าผมทำเหล็กผมต้องทำให้ได้ และทำให้ได้ดี ผมก็ทำได้สำเร็จหมดเลย ทำนิคมฯเหมือนกัน และเวลานี้ผมมีความเชื่อว่าเหล็กเวลานี้จะลงก็จริง แต่มันจะต้องขึ้นในเร็วๆนี้ นิคมฯก็เหมือนกัน ถูกไหม ดังนั้นวันไหนที่คุณหมดศรัทธาเมื่อไรกับสิ่งที่คุณเชื่อมาชั่วชีวิต วันนั้นคุณก็จบ ไม่ว่าคุณจะเก่งขนาดไหม เหตุการณ์บ้านเมืองจะดีขนาดไหน คุณก็จบ

ดังนั้นคุณจะเห็นว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ผมก็ยังอยู่กับธุรกิจของผม อย่างเก่งก็เอาบริษัทนี้ไป diversify อย่างที่ผมบอกคุณว่าเหมราชจะไปในทิศทางไหน และผมก็เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่เบรกเรา ว่าเราอยู่ในเซคเตอร์นี้เราจะ diversify ไม่ได้ ซึ่งสมัยก่อทำไม่ได้ บ้าฉิบหายนะ แต่เดี๋ยวนี้โอเค หากคุณทำที่ดิน ต่อไปคุณจะไปทำคอมพิวเตอร์ไฮเทคนี่ เมื่อก่อนนี้ต้องขออนุญาตเลยนะ เพราะว่าเขาแบ่งเซคเตอร์คุณไม่ถูกไง เราอยู่อสังหาริมทรัพย์ฯ ถือว่าเป็นการ diversify และในช่วงวิกฤติก็เป็นการ survive

ความคิดง่ายๆของผมมีเท่านั้นเอง ว่าใครอย่ามาขีดเส้นให้ผมเดินเลย อะไรก็แล้วแต่ที่ทำเงินให้บริษัทผม ผมจะทำทั้งนั้น พระเจ้าก็เบรกผมไม่ได้ ถูกหรือไม่ถูก หน้าที่ของคุณคือทำกำไรใช่ไหม แล้วทำไมคุณทำไม่ได้ ไม่ได้เพราะว่ากติกาไม่เปิดให้ทำ ? และตลาดหลักทรัพย์ฯก็เปลี่ยนไปแล้วด้วย เพราะว่าผมเคยโต้แยงประเด็นนี้ และผมก็ได้ทำ อย่างวันนี้โอเค ทำนิคมฯแล้วก็มานั่งจับเจ่าว่าทำอย่างไรดี เพราะว่าเซคเตอร์รถยนต์ก็ทรุด อะไรๆก็ตกต่ำลง เราก็ต้องมาคิดใหม่เลย เวลานี้จะทำอะไรต่อไป นิคมฯของผมนี่ ตอนที่ดีที่สุด ก็ขาย raw land ปาเข้าไปเกือบ 2 ล้าน เวลานี้เหลือ 6-7 แสนบาท ซื้อไหม why not ให้มันรู้ไปว่าช่วงชีวิตนี้พระอาทิตย์จะไม่ขึ้นอีกแล้ว ดังนั้นปัญหามันอยู่ที่ cash flow ของคุณ กับความยึดมั่นของคุณ เวลานี้คุณเป็นผู้สื่อข่าว เขียนคอลัมน์ วันไหนตื่นขึ้นมาหมดศรัทธากับอาชีพนี้ คุณจะทำอย่างไร

ถ้าเราหมดศรัทธากับสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอดชีวิต ก็จบ แม้สถานการณ์ทั้งโลกดีหมด คุณก็จบ”

ฟังดูแล้วสงสัยว่าสวัสดิ์เป็นคนที่เข้มแข็งได้มากขนาดนี้ได้อย่างไร

“มัน เป็นสิ่งจำเป็นนะครับ อาจจะพ่อแม่ในรุ่นนั้นมาจากเมืองจีน เขาก็เคี่ยวเข็ญเรา ถึงไม่ต้องเคี่ยวเข็ญเรา เราก็เห็น พ่อแม่ทำงานตัวเป็นเกลียวเลย เราก็ทำ และเราเริ่มต้นจากศูนย์เลย คนอื่นนะเขาบอกว่าเริ่มจากศูนย์แล้วมารวยเป็นร้อยล้านพันล้าน ผมเริ่มต้นชีวิตออกมานี่ผมเป็นหนี้อยู่ 200 กว่าล้านบาท เพราะว่ามันเป็นงานของครอบครัว แล้วเสร็จแล้วพี่ชายผมมีปัญหาขัดแย้งทางความคิด ผมก็ออกจากบริษัท พี่ชายผมเป็นคนทำ ทำไป 2 ปีเขาบอกไม่ทำแล้ว ให้ผมกลับไปทำดีกว่า ตอนนั้นโต้แย้งกัน เราก็มีหนี้อยู่แล้วเพราะผมก็ไปสร้างอะไรเยอะแยะ ผมกลับมานี่เท่ากับว่าผมเริ่มต้นใหม่โดยติดลบเกือบ 200 ลบ. มาวันนี้เป็นหนี้แสนกว่าลบ. โอ้โฮ มันฉิบหายเลย

แล้วเราต้องรู้ตัว เราเองว่าคุณมาจากไหน เราไม่ได้เอาเงินพ่อแม่เรามาทำ เพราะฉะนั้นคนที่เสียใจร่วมกับเราไม่มี หากเราเอาเงินพ่อแม่มา ลูกคนอื่นก็ว่าเอาได้ แต่ว่าของผม ผมทำมากับมือกับน้องชายผม เพราะงั้นเมื่อเจ๊ง ก็ผมทำเองและเจ๊งไปกับมือผม ถูกไหม แล้วอีกอย่างหนึ่งคุณเป็นหมายเลข 1 หรือ Number one ในบริษัท หากคุณไม่มั่นคงนี่ องค์กรก็เจ๊ง

เมื่อปี 1997 หากคุณไม่มั่นคง คุณเป็นเบอร์หนึ่งแล้ว จะทำอย่างไร? มันไม่มีเหตุผลที่คุณมานั่ง shaky ลูกน้องผมเสนอแผนประหยัดมาเมื่อปี 1997 ด้วยการปิดแอร์ เรื่องกาแฟ เป็นต้น ถูกผมด่าเลย ผมบอกว่าหากต้องทำสิ่งเหล่านี้แล้วบริษัทอยู่รอดได้ ก็เจ๊งมันเสียเลยดีกว่า ถามว่าประหยัดเดือนละเท่าไร หลายๆบริษทก็ประมาณแสนบาทได้ ผมว่าจะบ้าหรือเปล่า

เพราะงั้นสิ่งแวด ล้อมบังคับให้ผมต้องแข็งแรง เพราะวันนั้นนี่ลูกผม หลานผม คนงานผมเป็นพันคน ยังเรียนหนังสืออยู่เมื่อ 1997 สิบกว่าปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้บังคับให้คุณต้องแข็งแรง ต้องอยู่ให้ได้ บอกตรงๆผมไม่ได้สนใจเจ้าหนี้หรอก ผมสนใจคนของผม หากผมสนใจเจ้าหนี้ ผมคงต้องพูดเพราะๆ ไม่มี “3 ไม่” ใช่หรือเปล่า แต่ว่าผลกระทบมันจะกลับไปให้แบงก์เอง เพราะผมอยู่แก้ไขใช่ไหม ผมบอกแล้วว่าผมไม่หนี ผมไม่เคยสอนให้ใครโกง

ชีวิตของผมคือการลงทุน มันก็ถูกต้อง มันแน่นอนเป็นการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งน้ำพักน้ำแรง ความคิด แต่ส่วนหนึ่งแม้ชีวิตจะคือการลงทุน มันก็ยังไม่ถึงเป้า มันต้องสู้ด้วย ซึ่งใครๆก็พูดมานานแล้วว่าชีวิตต้องสู้ Never give an inch. นิ้วหนึ่งกูก็ไม่ถอยให้มึง”

[ คอลัมน์ Cover Story โดย ภัชราพร ช้างแก้ว นิตยสาร M&W เมษายน 2552 ]

No comments:

Post a Comment