SETTRADE.COM - SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

Monday, January 4, 2010

เมื่อภาษี 0% ไล่ล่าคุณ รัฐไม่ทันเกม ไทยพัง

แม้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในการเปิดเสรีตามข้อตกลงเขตการค้าต่างๆ จะกล่าวถึงความพร้อมในการรับมือ

แต่ ในทางปฏิบัติภาพรวมของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นได้ว่ายังไม่มีความพร้อม ขนาดเอกชนที่ค่อนข้างจะต้องปรับตัวเร็วเพื่อได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง การเปิดเสรียังมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ตามผลสำรวจของหอการค้าไทย พบว่าสมาชิกของสมาคมไม่ทราบและไม่เข้าใจการเป็นอีเอซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากถึงกว่า 80% และยังมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าน้อยกว่าประเทศคู่ค้ามาก

ดังนั้น ชาวบ้านชาวช่อง ตาสีตาสาคงไม่ต้องสำรวจก็รู้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อย หรือเอสเอ็มอี ซึ่งในส่วนของภาคการเกษตร ที่เป็นสินค้าอ่อนไหวในการเจรจาเปิดเสรีทุกประเทศ ต่างป้องกันภาคเกษตรกรรมของประเทศตนเอง ประเด็นนี้หน่วยงานรัฐที่ว่าพร้อม ในทางปฏิบัติพร้อมช่วยภาคเกษตรกรรมและเอสเอ็มอีจริงแล้วหรือ

นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าที่เริ่มมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2553 ไม่เพียงภาษีจะเหลือ 0% ในสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งจะต้องลดภาษีนำเข้าสินค้ามากถึง 8,300 รายการ เหลือ 0% ยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหวที่แต่ละประเทศคงไว้ และอีก 4 ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษี 0% ตามข้อตกลงการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community:AEC) ที่กำหนดไว้ภายในปี 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะมีฐานตลาดการค้าและการลงทุนเดียวกัน

ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 ไทยยังต้องลดภาษี 0% กับจีน ในเกือบ 90% ของสินค้าตามข้อตกลงอาเซียน-จีน ซึ่งจีนอย่างที่ทราบว่า วางตำแหน่งประเทศเป็นโรงงานผลิตสินค้าป้อนโลก ต้นทุนผลิตสินค้าจีนจึงถูก พร้อมขายราคาต่ำเข้าถล่มตลาดในทุกประเทศ

ส่วนภาคบริการไทยยังต้องเปิดให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาถือหุ้น 70% ในธุรกิจ เช่น ท่องเที่ยว สุขภาพ ขนส่งทางอากาศ โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ และอีก 3 ปี หรือ 2556 ต้องเปิดให้ถือหุ้น 70% ในธุรกิจลำเลียงสินค้าหรือโลจิสติกส์ ถือหุ้นได้ในสัดส่วนที่มากกว่ากฎหมายผู้ประกอบการต่างด้าว กำหนดห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ยังไม่นับการทยอยลดภาษีตามข้อตกลง เช่น อาเซียน-ออสเตรเลีย อาเซียน-เกาหลี


4 สินค้าเกษตร แย่แน่

มีการประเมินความเสียหาย จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าสินค้าเกษตรสำคัญของไทย 4 รายการ คือ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม และเมล็ดกาแฟ ภายใน 5 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 จนถึงปี 2558 จะมีส่วนแบ่งตลาดภายในอาเซียนลดลง 1-2% คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,040 ล้านบาท โดยคิดจากฐานการส่งออกสินค้าเกษตรไทยปี 2552 ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียนประมาณ 10%

เริ่มตั้งแต่ข้าว ภายใน 5 ปี ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้เวียดนาม 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 442 ล้านบาท เนื่องจากราคาข้าวขาวของเวียดนามมีราคาถูกกว่าข้าวไทยมาก และต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ของเวียดนามสูงกว่าไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 792 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตข้าวของไทยอยู่ที่ 452 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เวียดนามยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ในตลาดอาเซียน รองลงมาคือไทย

น้ำมันปาล์ม ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้มาเลเซีย 2.6% คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,564 ล้านบาท เพราะเป็นสินค้าที่มาเลเซียมีศักยภาพ และผลิตได้มากสุดอันดับ 1 ของโลก และปัจจุบันมาเลเซียได้ขยายการลงทุนเข้าไปในอินโดนีเซีย เพื่อเพาะปลูกปาล์มมากขึ้น ส่งผลให้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก เมล็ดกาแฟ ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้เวียดนาม 0.1% คิดเป็นมูลค่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.8 ล้านบาท เพราะเวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยตลาดส่งออกหลักของเวียดนามคือตลาดอาเซียน

ยกเว้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ภายใน 5 ปี ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น 0.1% โดยได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาจากอินโดนีเซีย หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ ประมาณ 1.7 แสนบาท เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปตลาดอาเซียน ไทยเป็นผู้ครองตลาด สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้มากสุด ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 68.6-95.7% และคู่แข่งของไทย คือ อินโดนีเซีย ที่ส่งออกเป็นอันดับ 2 ในตลาดอาเซียน พบว่ามีแนวโน้มส่งออกลดลง เพราะต้องใช้ผลผลิตบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

เอสเอ็มอี ขาดดุลเกือบพันล้าน

ขณะที่ผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีไทยและภาคครัวเรือน ที่จะมีการลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบอาฟตา ในช่วง 6 ปี หรือตั้งแต่ปี 2553-2558 จะขาดดุลการค้า 923 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5% เฉลี่ยแล้วขาดดุลปีละ 154 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี สินค้าที่ขาดดุลการค้าในธุรกิจเอสเอ็มอีมีทั้งหมด 7 อุตสาหกรรม จากที่ศึกษาทั้งหมด 12 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ ยาง พลาสติก ปิโตรเลียม เหล็กและโลหะ เหมืองแร่ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้ากับประเทศคู่ค้าภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นมากกว่า การส่งออกไปขาย

ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (จีดีพีเอสเอ็มอี) ที่มีสัดส่วน 38.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) พบว่า ในช่วง 6 ปี (2553-2558) จะทำให้มูลค่าจีดีพีของเอสเอ็มอีในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.9% มูลค่า 3.23 หมื่นล้านบาท แต่มีอยู่ 7 อุตสาหกรรมที่จีดีพีเอสเอ็มอีลดลง ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จีดีพีเอสเอ็มอีลดลง 2.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 448 ล้านบาท สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลง 3.6% มูลค่า 7,921 ล้านบาท เคมีภัณฑ์ ยาง พลาสติกลดลง 2.1% มูลค่า 2,618 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ไม้ลดลง 1.8% มูลค่า 976 ล้านบาท ปิโตรเลียมลดลง 1.6% มูลค่า 465 ล้านบาท เหล็กและโลหะลดลง 1.5% มูลค่า 1,070 ล้านบาท และเหมืองแร่ลดลง 3.4% มูลค่า 1,927 ล้านบาท

ภาครัฐ ดาหน้าโต้ พร้อมรับมือ

ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานผู้แทนการค้า รวมถึงหน่วยงานด้านออกกฎหมายรัฐสภา ต่างออกมากล่าวถึงมาตรการต่างๆ ว่าพร้อมเข้าสู่อาฟตา

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าไทยมีพันธะต้องยกเลิกโควตานำเข้าและลดภาษีสินค้าเกษตรเหลือ 0% ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา ในสินค้าเกษตร 23 รายการ ยกเว้น เมล็ดกาแฟ มันฝรั่งและเนื้อมะพร้าวแห้งที่ภาษีเป็น 5% เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2553 ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศยกเลิกแล้ว 13 รายการ เหลืออีก 10 รายการอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะกระทรวงเกษตรฯ ได้วางมาตรการป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนจำนวนมาก

“เช่น ข้าว แม้ตามข้อตกลงไทยจะไม่เสียเปรียบ เพราะอนุญาตนำเข้าเฉพาะข้าวเพื่อการแปรรูปอุตสาหกรรมคือข้าวหัก ในส่วนของด่านชายแดน กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้เคร่งครัดด่านชายแดนเป็นพิเศษ แจ้งขอความร่วมมือ ด่านศุลกากรทหารและตำรวจ จะอนุญาตให้นำเข้าผ่านด่านน้อยที่สุด จะกำหนดด่านนำเข้า กำหนดระยะเวลานำเข้าสินค้า ตรวจสอบอย่างละเอียด กำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชต้องปลอด จีเอ็มโอ ต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และจะต้องมีการตรวจสต๊อกอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าสินค้าใดนำเข้าจำนวนมากทำให้ราคาในประเทศตกต่ำ ก็จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้า (เซฟการ์ด)” นายธีระ กล่าว

จากข้อมูลการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน พบว่า ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังอาเซียนประมาณ 1.46 แสนล้านบาท ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากอาเซียนมีเพียงประมาณ 44.4 หมื่นล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.02 หมื่นล้านบาท

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นห่วงเรื่องการกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปของมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่แต่ละประเทศในอาเซียนต่างกำหนดขึ้นมา และอาจกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เนื่องจากประเทศในอาเซียนผลิตสินค้าคล้ายกัน ทำให้ในที่สุดผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีจะเป็นกลุ่มนักลงทุนชาติ อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ดังนั้นไทยและอาเซียนควรมีการปรับมาตรการทางการค้าให้มีทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเปิดเสรีให้ได้มากที่สุด

นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ไทยควรทำยุทธศาสตร์การค้าเป็นรายสินค้า ให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์แข่งขันได้เต็มที่ ส่วนการรับผลกระทบต้องตั้งรับเป็นชุมชน ให้ชุมชนมีความเกื้อหนุนกันเป็นกลุ่ม ฝ่ายออกกฎหมายต้องเร็ว ถ้าช้าในกรณีที่ไทยโดนฟ้อง จะเสียดอกเบี้ย ค่าปรับต่างๆ มากมาย ควรส่งเสริมการค้าชายแดน เพราะอาฟตาไทยจะได้ประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านที่พรมแดนติดกัน มากกว่าการค้าจากส่วนกลาง

นายสมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการ กล่าวว่า ถ้าอยากให้ไทยได้ประโยชน์จากอาฟตา จะต้องคงความที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้ รักษาจุดแข็งของเมืองไทยที่มีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีการเปิดประเทศมานานมีสถานะเศรษฐกิจนำในอาเซียน มีประเทศใหญ่มาลงทุน เช่น ญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ดีกับจีน

เพื่อหาประโยชน์จากอาฟตา ไทยต้องปรับตัวใน 3 เพิ่ม 2 ลด สำหรับ 3 เพิ่มคือ 1.เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย 2.เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการ และ 3.เพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่วน 2 ลด ได้แก่ 1.ลดการบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เช่น การเปลี่ยนไปเป็นรัฐสวัสดิการ การแทรกแซงราคาข้าวที่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านไม่น้อยกว่า 10% เป็นการจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาในไทย และ ที่สำคัญ 2.ไทยต้องลดความขัดแย้งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน

Saturday, January 2, 2010

ส่งซิกดอกเบี้ยหุ้นกู้AAAลด

สมาคมตราสารหนี้ไทย ประเมินเครดิตสเปรดเริ่มลด โดยเฉพาะหุ้นกู้เครดิต AAA สะท้อนนักลงทุนคลายความกังวล
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาด ตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ส่วนชดเชยอัตราดอกเบี้ย (เครดิตสเปรด) ของหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิต AAA ขณะนี้ได้ปรับตัวลดลงมา 0.5% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนคลายความกังวลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยบวกเพิ่มถึง 1.2% ถึง 1.3% เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินโลก

นอกจากนี้ เครดิตสเปรดของหุ้นกู้อันดับเครดิต BBB จากที่เคยบวกไปถึง 3% ถึง 3.5% ได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่า 3% เช่นกัน แต่ยังไม่มาก และเครดิตสเปรดในบางกลุ่มธุรกิจของอันดับเครดิต BBB ยังไม่ได้ลดลงมากนัก เช่น กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังจำเป็นต้องบวกเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงอยู่

“หลังเกิดวิกฤตการเงิน บริษัทที่ต้องการออกหุ้นกู้ต้องบวกดอกเบี้ยเข้าไปเพิ่มหรือเครดิตสเปรด แต่ตอนนี้เริ่มเห็นทิศทางลดลงของหุ้นกู้ที่มีเครดิตสูงๆ ระดับ AAA แต่ระดับ BBB ยังไม่ลดมากนัก เพราะบางธุรกิจที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่น ยังต้องบวกดอกเบี้ยเพิ่มในอัตราที่สูง”

สำหรับปี 2553 คาดว่าเครดิต สเปรดจะปรับตัวลดลงได้อีก 0.2% ถึง 0.3% เนื่องจากปัญหาสถาบันการเงินเริ่มผ่อนคลาย และทิศทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อดึงดูดนักลงทุน

ประกอบกับกลางปีหน้า คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องการให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้สกุลเงินสหรัฐอ่อนค่า มีความสามารถในการแข่งขันทางการค้ามากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับภาคเอกชน คาดว่า จะมีการออกหุ้นกู้มูลค่า 2-2.5 แสนล้านบาท จากปี 2552 มีมูลค่า 4 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ได้เร่งออกหุ้นกู้ตั้งแต่ ปี 2552 โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มปตท. ซึ่งปี 2553 จะไม่เห็นกลุ่มปตท.ออกมามากเหมือนปี 2552 คงเหลือการระดมทุนของบริษัท ปตท.เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลกระทบจากปัญหามาบตาพุดจะมีผลต่อหุ้นกู้เอกชนที่ถูกระงับโครงการ ก็ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องระดมเงิน

PostToday:วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552