SETTRADE.COM - SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

Thursday, May 28, 2009

แผนประกันราคาสินค้าเกษตร

รัฐฯ เลิกโครงการรับจำนำชี้ประหยัดงบฯ ดันตั้งกองทุนข้าวแก้ปัญหาระยะยาว

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัด การธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันแนวทางการชดเชยราคาพืชผลทางการเกษตรแทน ระบบการรับจำนำออกมาภายในปีนี้ โดยเห็นว่า หากเปลี่ยนมาใช้แนวทางดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลใช้เงินชดเชยราคาพืชผลปีละไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น และอนาคตต้องการให้จัดตั้งกองทุนดูแลพืชแต่ละชนิด เช่น กองทุนข้าว เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตอบรับด้วยการให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ช่วยศึกษาแนวทางที่เหมาะสมแล้ว

“เนื่องจากเห็นว่านโยบายการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรปัจจุบันด้วยการรับจำนำ พืชผล ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี และใช้เงินอุดหนุนมหาศาล จากระดับหมื่นล้านทะลุเป็นแสนล้านบาทในปีนี้ ดังนั้น อนาคตต่อไปอาจเกินกำลังของรัฐบาลในการรับภาระ และไม่มีเงินมาดำเนินโครงการ โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา และกระทบกับรายได้ของรัฐบาลขณะนี้”

การชดเชยราคาพืชผลระบบใหม่นี้ เกษตรกรสามารถแจ้งราคาข้าวที่รับได้ ซึ่งจะเป็นราคาต้นทุนบวกกำไรไว้ก่อนจะเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวแล้ว ในช่วงเวลาที่ขายออกไป หากได้ราคาต่ำกว่าที่แจ้งไว้ รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างของราคาให้ แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเกษตรกรเอง ที่ได้เงินเท่าที่กำหนดไว้ และรัฐบาลลดภาระงบประมาณในการจำนำและการเก็บดูแลรักษาข้าวเข้าสต๊อก

ส่วนการตั้งกองทุนดูแลพืชแต่ละชนิด เช่น กองทุนข้าว คล้ายกับกองทุนอ้อยและน้ำตาล ที่มีคณะกรรมการกำกับดูแล มีตัวแทนจากเกษตร กร โรงสี ผู้ประกอบการส่งออก ร่วมกำหนดราคาขั้นต่ำของข้าวเปลือกไปจนถึงข้าวขัดสีที่ส่งออกด้วย หากราคาต่ำกว่าที่ประกันไว้ กองทุนจะชดเชยราคาให้เหมือนกรณีอ้อยฯ เชื่อว่าหากใช้วิธีนี้ รัฐบาลจะใช้เงินทุนประเดิมจัดตั้งกองทุนไม่มากนัก ส่วน การใช้เงินระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับกลไกของกองทุนเอง เพราะเงินที่สมทบจะมาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“เข้าใจว่าการผลักดันให้เกิดกองทุนฯ อาจทำได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงว่า การเข้าไปอุ้มเกษตรกรทุกกลุ่ม ด้วยการรับจำนำ ที่เหมือนรับซื้อนั้น คงทำไม่ไหว เพราะไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการแล้ว เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ทั้งโรงสี ผู้ส่งออกปรับตัว ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับ ธ.ก.ส. ด้วย ที่ไม่ต้องเข้าไปรับภาระจัดสรรเงินดำเนินตามนโยบายทุก ๆ ปี โดยหาก ธ.ก.ส.ไม่ต้องสนองนโยบายนี้ ทำให้มีเวลาไปดูแลเกษตรกรลูกค้าได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าติดตามและช่วยเหลือไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสิ้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาหนี้เสียพุ่งไปอยู่ที่ 9.6% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีงบประมาณ ที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 52 ที่ 8.5% แล้ว”

คาดว่าหลังดำเนินโครงการรับจำนำ สินค้าเกษตรกรหลายรายการ จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินมาชำระหนี้ในเดือน มี.ค.นี้ และส่งผลให้หนี้เสียลดลงเหลือ 9% ได้ โดยจะลดลงเหลือ 8.5% ในปีงบประมาณ 52 ที่จะถึงนี้ ส่วนการปล่อยสินเชื่อทำได้ 282,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 279,000 ล้านบาท หากรวมโครงการรับจำนำ อีก 110,000 ล้านบาท ทำให้ปี 51 ธ.ก.ส. อัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคการเกษตรเกือบ 400,000 ล้านบาท

ปีงบ 52 ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 330,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปีนี้ยังเชื่อว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน 5,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ส่วนปี 52 จะพยายามดูแลให้ผลกำไรอยู่เท่าเดิม โดยจะเข้าไปช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร เช่น การทำประกันภัยพืชผล กำหนด ราคาขั้นต่ำพืชผลแต่ละชนิด เป็นต้น

No comments:

Post a Comment