เทรนด์แฟชั่นและบันเทิงของสาธารณรัฐเกาหลี หรือ “เกาหลีใต้” กำลังครอบงำอย่างฟูฟ่องอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเราที่ตอนนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่กระแส “เห่อเกาหลี” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เมืองไทย-คนไทยเราน่าจะตามอย่างเกาหลีใต้มากกว่าเทรนด์แฟชั่นและ บันเทิงที่ฉาบฉวย ก็คือการ “พัฒนาประเทศ” เป็นการพัฒนาด้วย “วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี” ที่ช่วยให้เกาหลีใต้ “ก้าวกระโดด” ล้ำหน้าไทย...
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สวทช. นำโดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะ ได้เดินทางเยือนประเทศเกาหลีใต้
วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อศึกษาดูความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านต่าง ๆ ทั้งด้าน อาหาร, วิศวกรรม, ชีวภาพ เพื่อนำมาเป็นแนวทางปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการเจรจาความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีระหว่างไทย-เกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เรา
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาประเทศให้ ก้าวหน้า ซึ่งจากในอดีตที่เคยตามหลัง ประเทศไทยเราอยู่หลายก้าว ปัจจุบันเกาหลีใต้ได้แซงหน้าไทยไปไกลแล้ว !!
ด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 30 ปี เกาหลีใต้สามารถพัฒนาประเทศจนอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ หลัก ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแนวทางพัฒนาประเทศจึงเป็น เรื่องที่น่าคิด-น่าทำสำหรับประเทศไทย
กล่าวสำหรับการไปเยือนเกาหลีใต้ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น จุดหลัก ๆ ที่มีการไปศึกษาดูงาน ศึกษาแนวทาง ก็มีอาทิ... สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีใต้ หรือเคไอเอสที (Korea Institute Of Science and Technology : KIST) ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1966 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคของประธานาธิบดี ปาร์ค จุง ฮี ผู้ซึ่งเล็งเห็น ให้ความสำคัญ และมีความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแนวทางหลักในการสร้างชาติที่ สำคัญ
สถาบันแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการทำการวิจัยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน อาหาร, ชีวภาพ, เคมี, ไบโอเทค, วิศวกรรม ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้ถูกนำไปใช้ต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ นอกจากนั้นทางสถาบันแหง่นี้ยังมีการแยกขยายสถาบันย่อยออกไปเป็น “ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง” โดยตรง โดยมีการลงทุนร่วมกันระหว่างเอกชนและรัฐบาล ทำให้ได้งานวิจัยที่ตรงเป้า และได้มาตรฐานมากขึ้น ที่สำคัญทำให้งานวิจัยต่อยอดได้เร็วยิ่งขึ้น
ศูนย์วิจัยด้านอาหารของประเทศเกาหลีใต้ หรือเคเอฟอาร์ไอ (Korea Food Research Instiute : KFRI) หน่วยงานหนึ่งที่แตกออกมาจากเคไอเอสที ก็เป็นอีกจุดที่คณะจากไทยไปศึกษาดูงาน โดยเป็นศูนย์วิจัยทางด้านอาหารเพื่อการค้าโดยตรง มีการวิจัยอาหารที่มีอยู่ในประเทศ นำมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีหน่วยงานหรือไบโอเซ็นเตอร์ที่ทำวิจัยเรื่องยา อาหาร เคมี (Global inspiration Gyeonggi Bio-Center) ที่เป็นทั้งหน่วยงานวิจัย และเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นวิจัยขึ้นมาได้ โดยดำเนิน การในลักษณะเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชนของเกาหลีใต้
“ในยุคประธานาธิบดี ปาร์ค จุง ฮี ที่เชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศให้ก้าว ขึ้นสู่ความสำเร็จและสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้ เป้าหมายแรกของท่านก็คือการดึงบุคลากรกลับมาช่วยประเทศ ยุคนั้นมีการดึงบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ และในการทำงานของบุคลากรเหล่านี้ ในช่วงแรก ๆ นั้นประธานาธิบดีจะมาเยี่ยมให้กำลังใจแทบทุกเดือน ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีกำลังใจ เป็นแรงผลักดันให้เกิดความตั้งใจอย่างจริงจัง” ...เป็นการระบุของหนึ่งในทีมก่อตั้งสถาบันเคไอเอสที
พร้อมกันนี้ยังมีการระบุด้วยว่า... ในอดีตการวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ไม่ได้เริ่ม จากอุตสาหกรรมหนัก แต่จะทำวิจัยในด้านเคมี พวก น้ำตาล, ปุ๋ย, ยาสีฟัน เป็นต้น จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มพัฒนามาวิจัยด้านอุตสาหกรรมหนัก อย่างพวก เหล็ก, ต่อเรือ, รถยนต์ ซึ่งในการพัฒนาประเทศด้วยวิธีนี้ ทำไปได้ประมาณ 15-20 ปี ก็พัฒนาได้มาก แม้ว่าจะยังตามประเทศอื่นอยู่บ้าง แต่ระยะห่างก็ลดลง ถือเป็นที่น่าพอใจ
ล่าสุดไทยเรากำลังสนใจจะพัฒนาประเทศโดยใช้แนวทางตามรอยเกาหลีใต้ ประเทศที่มีขนาดพื้นที่เพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับไทย มีประชากรราว 48.8 ล้านคน (มี.ค. 2549) น้อยกว่าไทยสิบกว่าล้านคน แต่ไทยก็ขาดดุลการค้ามาตลอด ซึ่งก็น่าติดตามความคืบหน้า และทาง ดร.คุณหญิงกัลยา รมว. วิทยาศาสตร์ฯ ก็ระบุไว้ว่า.....
“เกาหลีใต้ถือเป็นบทเรียนของไทยเราได้ จะเป็นประโยชน์มากหากไทยได้เรียนรู้จากเขาให้ลึกซึ้ง กรณีของเกาหลีใต้เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า แม้จะเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจริงจัง ก็สามารถจะสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้ !!”.
เดลินิวส์ : 27 เมษายน, 2552
No comments:
Post a Comment