SETTRADE.COM - SAA Consensus หุ้นที่มีการ update วันนี้

Thursday, May 28, 2009

แผนประกันราคาสินค้าเกษตร

รัฐฯ เลิกโครงการรับจำนำชี้ประหยัดงบฯ ดันตั้งกองทุนข้าวแก้ปัญหาระยะยาว

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัด การธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันแนวทางการชดเชยราคาพืชผลทางการเกษตรแทน ระบบการรับจำนำออกมาภายในปีนี้ โดยเห็นว่า หากเปลี่ยนมาใช้แนวทางดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลใช้เงินชดเชยราคาพืชผลปีละไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น และอนาคตต้องการให้จัดตั้งกองทุนดูแลพืชแต่ละชนิด เช่น กองทุนข้าว เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตอบรับด้วยการให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ช่วยศึกษาแนวทางที่เหมาะสมแล้ว

“เนื่องจากเห็นว่านโยบายการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรปัจจุบันด้วยการรับจำนำ พืชผล ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี และใช้เงินอุดหนุนมหาศาล จากระดับหมื่นล้านทะลุเป็นแสนล้านบาทในปีนี้ ดังนั้น อนาคตต่อไปอาจเกินกำลังของรัฐบาลในการรับภาระ และไม่มีเงินมาดำเนินโครงการ โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา และกระทบกับรายได้ของรัฐบาลขณะนี้”

การชดเชยราคาพืชผลระบบใหม่นี้ เกษตรกรสามารถแจ้งราคาข้าวที่รับได้ ซึ่งจะเป็นราคาต้นทุนบวกกำไรไว้ก่อนจะเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวแล้ว ในช่วงเวลาที่ขายออกไป หากได้ราคาต่ำกว่าที่แจ้งไว้ รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างของราคาให้ แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเกษตรกรเอง ที่ได้เงินเท่าที่กำหนดไว้ และรัฐบาลลดภาระงบประมาณในการจำนำและการเก็บดูแลรักษาข้าวเข้าสต๊อก

ส่วนการตั้งกองทุนดูแลพืชแต่ละชนิด เช่น กองทุนข้าว คล้ายกับกองทุนอ้อยและน้ำตาล ที่มีคณะกรรมการกำกับดูแล มีตัวแทนจากเกษตร กร โรงสี ผู้ประกอบการส่งออก ร่วมกำหนดราคาขั้นต่ำของข้าวเปลือกไปจนถึงข้าวขัดสีที่ส่งออกด้วย หากราคาต่ำกว่าที่ประกันไว้ กองทุนจะชดเชยราคาให้เหมือนกรณีอ้อยฯ เชื่อว่าหากใช้วิธีนี้ รัฐบาลจะใช้เงินทุนประเดิมจัดตั้งกองทุนไม่มากนัก ส่วน การใช้เงินระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับกลไกของกองทุนเอง เพราะเงินที่สมทบจะมาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“เข้าใจว่าการผลักดันให้เกิดกองทุนฯ อาจทำได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงว่า การเข้าไปอุ้มเกษตรกรทุกกลุ่ม ด้วยการรับจำนำ ที่เหมือนรับซื้อนั้น คงทำไม่ไหว เพราะไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการแล้ว เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ทั้งโรงสี ผู้ส่งออกปรับตัว ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับ ธ.ก.ส. ด้วย ที่ไม่ต้องเข้าไปรับภาระจัดสรรเงินดำเนินตามนโยบายทุก ๆ ปี โดยหาก ธ.ก.ส.ไม่ต้องสนองนโยบายนี้ ทำให้มีเวลาไปดูแลเกษตรกรลูกค้าได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าติดตามและช่วยเหลือไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสิ้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาหนี้เสียพุ่งไปอยู่ที่ 9.6% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีงบประมาณ ที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 52 ที่ 8.5% แล้ว”

คาดว่าหลังดำเนินโครงการรับจำนำ สินค้าเกษตรกรหลายรายการ จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินมาชำระหนี้ในเดือน มี.ค.นี้ และส่งผลให้หนี้เสียลดลงเหลือ 9% ได้ โดยจะลดลงเหลือ 8.5% ในปีงบประมาณ 52 ที่จะถึงนี้ ส่วนการปล่อยสินเชื่อทำได้ 282,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 279,000 ล้านบาท หากรวมโครงการรับจำนำ อีก 110,000 ล้านบาท ทำให้ปี 51 ธ.ก.ส. อัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคการเกษตรเกือบ 400,000 ล้านบาท

ปีงบ 52 ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 330,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปีนี้ยังเชื่อว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน 5,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ส่วนปี 52 จะพยายามดูแลให้ผลกำไรอยู่เท่าเดิม โดยจะเข้าไปช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร เช่น การทำประกันภัยพืชผล กำหนด ราคาขั้นต่ำพืชผลแต่ละชนิด เป็นต้น

สัปดาห์ลุ้นระทึก 'สองบิ๊กดีทรอยต์' เชื่อ GM ขอล้มละลายตามไครสเลอร์

(ผู้ จัดการออนไลน์) : เข้าสู่สัปดาห์ของการลุ้นระทึกในดีทรอยต์ ที่ลงท้ายพี่ใหญ่จีเอ็มอาจถูกบีบให้ล้มละลาย และค่ายรถอันดับ 3 ไครสเลอร์หลุดพ้นจากการคุ้มครองของศาลอย่างรวดเร็ว โดยโอบาม่าแสดงความเชื่อมั่นว่าทั้งสองบริษัทจะกระฉับกระเฉง มุ่งมั่นและมีศักยภาพการแข่งขันมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้น

รายงาน ข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีความเห็นพ้องกันมากขึ้นว่าเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ที่จะถึงกำหนดเส้นตายในการยื่นแผนปรับโครงสร้างหรือถูกตัดความช่วยเหลือจาก รัฐในวันที่ 1 เดือนหน้านั้น คงจะเลือกขอรับการคุ้มครองจากศาลล้มละลาย แม้กระทั่งเมื่อแผนปรับโครงสร้างผ่านความเห็นชอบจากวอชิงตันในนาทีสุดท้ายก็ ตาม

ล่า สุด จีเอ็มบรรลุข้อตกลงชั่วคราวกับสหภาพแรงงานยานยนต์ (ยูเอดับเบิลยู) เรื่องการแปลงหนี้ที่บริษัทติดค้างอยู่ให้เป็นหุ้นสามัญ แต่ยังต้องขอให้สมาชิกสหภาพลงคะแนนเห็นชอบกันต่อไป และ ในวันอังคาร (26) จีเอ็มก็จะขอไฟเขียวจากผู้ถือหุ้นกู้ที่มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับแผนปรับโครงสร้าง

ทั้ง นี้ ปัญหาเรื่องผู้ถือหุ้นกู้ของจีเอ็มนั้น มีขนาดใหญ่โตกว่าไครสเลอร์มาก เพราะฝ่ายหลังมีเจ้าหนี้เพียงร้อยกว่าราย แต่จีเอ็มมีเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินใหญ่กว่า 120 แห่ง ไม่นับรวมผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกราวแสนคน เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ของจีเอ็มจำนวนไม่น้อยกำลังโวยวายว่า จีเอ็มภายใต้การผลักดันของรัฐบาล กำลังเรียกร้องการเสียสละจากพวกเจ้าหนี้ ยิ่งกว่าทางสหภาพแรงงานและฝ่ายอื่นๆ

เคน อีเกิลเก แห่ง แคปิโตล ซีเคียวริตีส์ แมเนจเมนต์ บอกว่า ตามแผนการของรัฐบาลที่มีการรายงานข่าวกันนั้น พวกถือหุ้นกู้ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ที่ต้องมีฐานะเหนือ เจ้าหนี้อื่นๆ กลับจะต้องยกหนี้จำนวนถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับหุ้นเพียง 10% ในบริษัทจีเอ็มหลังปรับโครงสร้างใหม่ แต่กระทรวงการคลังสหรัฐฯและฝ่ายสหภาพแรงงานที่ยกหนี้จำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ จะได้หุ้นจีเอ็มใหม่เป็นจำนวนถึง 89%

กระนั้น ก็ตาม ดักลาส เบิร์นสไตน์ นักกฎหมายในมิชิแกนที่เป็นตัวแทนของซัปพลายเออร์ยานยนต์ในกรณีไครสเลอร์ เชื่อว่าผู้ถือหุ้นกู้ของจีเอ็มไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับแผน ดีกว่าต้องแทงบัญชีหนี้สูญ

ผู้ เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า แม้แต่เมื่อแผนลดต้นทุนของจีเอ็มผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบา รัค โอบาม่า ตามเส้นตายที่ให้ไว้เมื่อปลายเดือนมีนาคม แต่พี่ใหญ่แห่งดีทรอยต์รายนี้ก็อาจเลือกขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายเพื่อ หลีกเลี่ยงการถูกดีลเลอร์ฟ้องร้อง เนื่องจากบริษัทมีแผนลดเครือข่ายดีลเลอร์ลง 40% และปิดโชว์รูม 2,300 แห่งภายในปลายปีหน้า

สำหรับ ทางด้านไครสเลอร์นั้น กำลังรอคำวินิจฉัยสำคัญจากศาลล้มละลายในวันพุธ (27) ที่จะเปิดทางให้บริษัทสามารถขายธุรกิจหลักให้บริษัทไครสเลอร์ใหม่ ที่มีเฟียตร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งจะเท่ากับสามารถเดินหน้าปรับโครงสร้างเพื่อสะสางปัญหาอย่างรวดเร็วตาม ที่รัฐบาลคาดหวัง เนื่องจากจะทำให้ไครสเลอร์หลุดพ้นจากสภาพล้มละลายกลายเป็นบริษัทใหม่ที่ บริหารโดยเฟียตจากอิตาลี แต่มีสหาภาพแรงงานยูเอดับเบิลยูถือหุ้นใหญ่ และรัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดาถือหุ้นบางส่วน

อย่าง ไรก็ตาม บรูซ เบลโซวสกี้ จากสถาบันวิจัยด้านการขนส่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ชี้ว่าการรวมพลังระหว่างไครสเลอร์-เฟียตยังต้องเจอความท้าทายอีกมาก อาทิ สภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะถดถอย

ทว่า ดานา จอห์นสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมอร์เชียล แบงก์ มองต่างมุมว่าหลังจากสะสางหนี้และต้นทุนอื่นๆ แล้ว ไครสเลอร์-เฟียตอาจฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งหมายถึงแนวโน้มขาขึ้นของยอดขายรถยนต์ที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้

เด วิด โคล ประธานศูนย์เพื่อการวิจัยด้านยานยนต์ในมิชิแกน ขานรับว่าสถานการณ์ของผู้เล่นในดีทรอยต์จะดีขึ้น หลังลดต้นทุนจากการลดศักยภาพการผลิต รวมถึงตัดค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายออกไป อันจะทำให้จุดคุ้มทุนอยู่ที่ยอดขายเพียงปีละ 10 ล้านคัน ลดจาก 15-16 ล้านคันในขณะนี้ ซึ่งจากการคาดหมายว่ายอดขายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 13-14 ล้านคัน จึงหมายความว่าผู้เล่นจะมีศักยภาพการทำกำไรสูงขึ้น

มุม มองแง่ดีเหล่านี้สอดรับกับการให้สัมภาษณ์ของโอบาม่าต่อสถานีทีวีสเปนเมื่อ วันเสาร์ (23) หรือเพียงหนึ่งวันหลังจากกระทรวงคลังสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเพิ่มให้จีเอ็มจนขณะนี้ยอดรวมเป็นกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์

ผู้ นำแดนอินทรีแสดงความเชื่อมั่นว่าทั้งจีเอ็มและไครสเลอร์จะกลับมาใหม่ในสภาพ ที่กระฉับกระเฉง มุ่งมั่นและมีศักยภาพการแข่งขันมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้น ด้วยสายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดึงดูดใจลูกค้า นั่นคือรถแห่งอนาคตที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้โอบาม่าไม่ได้เอ่ยถึงทางเลือกของจีเอ็มในการล้มละลาย แต่ได้แสดงความกังวลต่อผลที่อาจเกิดตามมาจากการปลดแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์

USA:GM ใกล้ล้มละลายหลังผู้ถือหุ้นกู้ปฏิเสธข้อเสนอสว็อปหุ้น

ดีทรอยต์/นิวยอร์ค--27 พ.ค.--รอยเตอร์

บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (GM) ประสบความล้มเหลวในการชักจูงผู้ถือหุ้นกู้จำนวนมากพอให้ยอมรับข้อตกลงสว็อป หุ้นกู้กับหุ้นสามัญ ซึ่งอาจส่งผลให้ GM ล้มละลายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในภาคอุตสาหกรรม สหรัฐ

ความล้มเหลวนี้สร้างความผิดหวังเป็นอย่างมากต่อ GM ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ นาย พีท เฮสติงส์ นักวิเคราะห์สินเชื่อของบริษัทมอร์แกน คีแกน กล่าวว่า "ผมคิดว่านี่เป็นการปฏิเสธอย่างมีเหตุผลต่อข้อเสนอที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผมเคยพูดไปแล้วว่า ข้อเสนอนี้จะไม่มีทางได้รับการยอมรับ และเราก็เพียงแค่รอเวลาให้ข้อเสนอนี้ได้รับการปฏิเสธเท่านั้น"

GM พยายามที่จะชักจูงผู้ถือหุ้นกู้ราว 90 % ให้สนับสนุนข้อเสนอนี้เพื่อหลีกเลี่ยงจากภาวะล้มละลาย แต่แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายในช่วงเที่ยงของเมื่อวานนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ที่สนใจข้อเสนอนี้มีสัดส่วนเพียงตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น ผู้ถือหุ้นกู้มีเวลาจนถึงเที่ยงคืนของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นในการตัดสิน ใจขั้นสุดท้ายเรื่องข้อเสนอนี้ ซึ่งระบุว่าผู้ถือหุ้นกู้จะต้องยกหนี้ของตนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถือหุ้น 10 % ในบริษัทหลังการปรับโครงสร้าง

ทางด้าน GM ไม่ได้แสดงความเห็นเรื่องการสว็อปหุ้นกู้ดังกล่าว โดยระบุว่า ทางบริษัทจะเปิดเผยผลดังกล่าวในวันนี้ ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า GM อาจยื่นเรื่องล้มละลายในช่วงตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันอังคารจนถึงก่อนวัน ที่ 1 มิ.ย.

อย่างไรก็ดี GM บรรลุข้อตกลงเมื่อวานนี้กับผู้นำสหภาพแรงงานรถยนต์สหรัฐ (ยูไนเต็ด ออโต้ เวิร์คเกอร์ส หรือ UAW) โดยการเจรจาต่อรองระหว่าง GM กับ UAW มุ่งไปที่แนวทางในการปรับโครงสร้างเงื่อนไขในการจ่ายเงินที่ค้างอยู่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่กองทุนทรัสต์ประกันสุขภาพสำหรับผู้เกษียณอายุ (สมาคมสวัสดิการลูกจ้างแบบสมัครใจ หรือ VEBA) UAW ตกลงที่จะเข้าถือหุ้นสามัญ 17.5 % ใน GM หลังการปรับโครงสร้าง นอกจากนี้ UAW จะได้รับหุ้นบุริมสิทธิ์ 6.5 พันล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้อีก 2.5 พันล้านดอลลาร์ด้วย

การทำข้อตกลงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวหมายความว่า UAW ประสบความสำเร็จในการแบกรับความเสี่ยงในระดับที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในข้อเสนอ ฉบับก่อนหน้านี้ของ GM โดยข้อเสนอฉบับนั้นระบุว่า UAW จะได้ถือครองหุ้นสามัญ 39 % ใน GM

GM จะเสนอโครงการผลตอบแทนสำหรับผู้ที่สมัครใจลาออกจากงานให้แก่ลูกจ้างทั้งหมดของ UAW UAW ระบุในเอกสารที่เผยแพร่แก่พนักงานของ GM ว่า "วันนี้ GM ยืนอยู่ที่ริมขอบของการล้มละลาย" สมาชิก สามัญใน UAW จะลงมติในเรื่องสัญญาดังกล่าวในวันนี้และพรุ่งนี้ โดยเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานที่ประชุมกันที่เมืองดีทรอยต์เมื่อวานนี้ได้ลงมติ อย่างเป็นเอกฉันท์ในการสนับสนุนสัญญานี้ หลังจากรับฟังถ้อยแถลงของนายรอน เกลเทลฟิงเกอร์ซึ่งเป็นประธาน UAW

ผู้ถือหุ้นสามัญในปัจจุบันจะได้ ถือหุ้นเพียง 1 % ใน GM หลังการปรับโครงสร้าง นายเจมส์ ยาร์โบรห์ ซึ่งเป็นนักบัญชีที่ปลดเกษียณแล้ว กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการแลกหุ้นกู้กับหุ้นสามัญ 10 % ว่า "ข้อเสนอนี้เหมือนกับการตบหน้า" โดยนายยาร์โบรห์ลงทุนในหุ้นกู้ของ GM ไปแล้วเป็นเงินถึง 158,000 ดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา โดยเขาเสียใจที่เขาซื้อหุ้นกู้เพิ่มเติมในปี 2008 เนื่องจากเขาคาดการณ์ในขณะนั้นว่า GM กำลังจะฟื้นตัว แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางทำเนียบขาวยังคงเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้เพื่อพยายามบรรลุข้อตกลง ราคา หุ้น GM ปิดตลาดวานนี้ขยับขึ้น 1 เซนต์ สู่ 1.44 ดอลลาร์ในตลาดหุ้น นิวยอร์ค หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1.12-1.84 ดอลลาร์ในระหว่างวัน โดยหุ้น GM อาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าถ้าหาก GM ล้มละลาย รัฐบาลสหรัฐได้จัดสรร เงินรวมกัน 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ GM, ไครสเลอร์ และบริษัทไฟแนนซ์ในเครือของสองบริษัทนี้นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2008 โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า รัฐบาลอาจจัดสรร "เงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ" ให้แก่ GM ในระหว่างการล้มละลาย และจะดำเนินบทบาทน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในฐานะผู้ถือหุ้น

หนังสือ พิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐวางแผนจะอัดฉีดเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาของ GM โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของหุ้นสามัญ นอกจากนี้ WSJ ยังระบุว่า รัฐบาลอาจเพิ่มการถือครองหุ้นขึ้นสู่ 70 % จาก 50 % เพื่อลดหนี้ของ GM หลังจาก GM ออกจากภาวะล้มละลาย

แหล่งข่าวกล่าวว่า การล้มละลายของ GM อาจใช้เวลานานกว่าการล้มละลายของบริษัทไครสเลอร์ เพราะว่าเครือข่ายทั่วโลกของ GM มีความซับซ้อนสูง อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องการที่จะขายหุ้นออกไปเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลมั่นใจว่า ผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีจะได้รับความคุ้มครองในขณะที่ทางบริษัทเปิดดำเนิน การต่อไปไครสเลอร์กำลังรอการอนุมัติในสัปดาห์นี้ในการขายกิจการให้แก่ บริษัท "ไครสเลอร์ใหม่" ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐ, รัฐบาลแคนาดา, สหภาพแรงงานของไครสเลอร์ และบริษัทเฟียต ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของอิตาลี โดยการพิจารณาคดีเรื่องการขายกิจการจะมีขึ้นในวันนี้

เมื่อวานนี้ผู้ พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐได้ปฏิเสธคำร้องของกลุ่มกองทุนเงินบำนาญรัฐ อินเดียนาที่ต้องการให้ชะลอการพิจารณาคดีเรื่องการขายกิจการไครสเลอร์และ ต้องการให้ย้ายคดีล้มละลายนี้ไปยังศาลเขตการล้มละลายของไครสเลอร์และการ ที่ GM ใกล้จะล้มละลายได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยนางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐมิชิแกนกล่าวว่า บริษัทซัพพลายเออร์หรือบริษัทจัดหาอะไหล่รถยนต์ของสหรัฐจำเป็นต้องได้รับ เงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากทางรัฐบาลราว 8 พันล้านดอลลาร์

ในช่วงไม่กี่ เดือนข้างหน้าถ้าหาก GM ล้มละลาย ส่วนในยุโรปนั้น ยังคงมีการเจรจากันต่อไปในประเด็นเรื่องการขายกิจการ Opel ของ GM เมื่อวานนี้รัฐบาลเยอรมนีได้กดดันผู้ยื่นเสนอซื้อ Opel 3 รายให้ปรับปรุงข้อ เสนอของตนเองให้ดีขึ้น โดยระบุว่าผู้เสนอซื้อจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และต้องให้สัญญาอย่างน่าเชื่อถือว่าจะรักษาการจ้างงานและโรงงาน

นาย คาร์ล-ธีโอดอร์ ซู กุทเทนเบิร์ก ซึ่งเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังจากประชุมกับนายเซอร์จิโอ มาร์ชิออนเน ซีอีโอของเฟียตว่า ข้อเสนอซื้อของเฟียตมีความจริงจัง แต่ข้อเสนอซื้อจากบริษัทแมกนาของแคนาดาและจากบริษัทอาร์เอชเจ อินเตอร์เนชั่นแนลของเบลเยียมยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา

"ยังไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นที่ชื่นชอบ ทุกคนรู้ว่ายังคงมีความจำเป็นในการปรับปรุงข้อเสนอให้ดีขึ้น" นายกุทเทนเบิร์กกล่าว

บริษัทเบจิง ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ป (BAIC) ของจีนได้ยื่นข้อเสนอซื้อ Opel เป็นรายที่สี่ในช่วงเย็นวานนี้

Thursday, May 21, 2009

โอโตยะลุย3โมเดลอาหารญี่ปุ่นบุกไทย

โอโตยะ ชู 3 โมเดลธุรกิจบุกไทย พร้อมส่งเบนโตะ “ข้าวกล่อง” เจาะลูกค้าบ้าน-งานประชุม หวังสิ้นปีโต 10%

นายโทชิมิ ชิมามุระ ประธานบริษัท เบทาโกร โอโตยะ (ไทยแลนด์) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “โอโตยะ” เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจร้านอาหารโอโตยะในประเทศไทยนับจากนี้จะเน้นจุดเด่นภาพลักษณ์ ร้านอาหารญี่ปุ่นรสชาติแท้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านอาหารญี่ปุ่นรายอื่นในประเทศไทย ภายใต้ 3 รูปแบบ คือ 1.โอโตยะ ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น 2.โอโตยะ คิทเช่น และ 3.โอโตยะ เดลิ หลังจากดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2548

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมต่อยอดแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น “โอโตยะ” เพื่อให้บริการเมนูเบนโตะหรือข้าวกล่องรูปแบบต้นตำรับญี่ปุ่นแท้ ซึ่งจะให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านหรือเดลิเวอรี โดยร้านรูปแบบโอโตยะ เดลิ มีให้เลือก 10 เมนู วางระดับราคาเฉลี่ย 150-200 บาทต่อชุด มุ่งจับกลุ่มเป้าหมายพนักงานบริษัทคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มผู้จัดงานประชุมหรือสัมมนาต่างๆ คาดพร้อมให้บริการราวกลางปีนี้

สำหรับร้านอาหารโอโตยะรูปแบบภัตตาคาร ปัจจุบันมีเมนูให้บริการกว่า 100 รายการ โดยมีรายได้ต่อคนต่อครั้งที่เข้ามารับประทานอาหารภายในร้านเฉลี่ย 260-270 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ใหญ่อื่นๆ ที่ให้บริการก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตจะใช้งบในการทำตลาดและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายราว 20-30 ล้านบาทต่อปี เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นของตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย

จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ในปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านโอโตยะ เพิ่มราว 2 แห่ง ล่าสุดเปิดให้บริการรูปแบบภัตตาคารที่สยามสแควร์ และเตรียมเปิดอีก 1 สาขาในทำเลสุขุมวิท ส่วนปีหน้าคาด เปิดสาขาใหม่เพิ่มราว 2 แห่ง จากปัจจุบันเปิดให้บริการร้านอาหาร โอโตยะทั้งสิ้น 16 สาขา แบ่งสัดส่วนกลุ่มลูกค้าคนไทยราว 70% และชาวญี่ปุ่น 30%

สำหรับธุรกิจในประเทศไทยถือว่ามีสาขาและอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อ เทียบกับร้านโอโตยะสาขาอื่นในภูมิภาคอาเซียน อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทใช้วัตถุดิบประกอบการทำอาหารจากบริษัท เบทาโกร พันธมิตรในประเทศไทย สัดส่วน 15% และ 30-35% มาจากประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนที่เหลือ 50% จากผู้จัดซื้อรายอื่น

ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโต 10% จากสาขาเปิดใหม่ โดยปีที่ผ่านมารายได้เติบโตราว 25% จากการเปิดสาขาใหม่ 5 แห่ง และมีรายได้ 390 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 ปีนับจากนี้จะเริ่มเปิดให้บริการสาขาใหม่ในต่างจังหวัด เช่น พัทยา และเชียงใหม่ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากรเพื่อขยาย ตลาดในภูมิภาคเอเชียด้วย

PostToday : วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Tuesday, May 19, 2009

หลักทรัพย์คุณค่า เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังแข็งแกร่ง มีผลกำไรจากการประกอบการ ประกาศจ่ายเงินปันผลกว่าร้อยละ 50 ของกำไรในปี 2551 มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงถึงร้อยละ 8.87 ดังนั้นการเลือกลงทุนในหุ้นคุณค่าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เป็นอีก ทางเลือกหนึ่งของผู้มีเงินออม

เศรษฐกิจขาลง หุ้นปันผลเป็นอีกทางเลือกของนักลงทุนและผู้มีเงินออม ด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปี 2551 แม้ทิศทางเศรษฐกิจขาลง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) มีผลกำไรสุทธิรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และมีการจ่ายปันผลรวมกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลร้อยละ 8.87 สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 1

จากข้อมูลการจ่ายเงินปันผลในช่วงไตรมาส 1 ปี 2552 พบว่า จาก 245 หลักทรัพย์ที่ประกาศจ่ายปันผล มีหลักทรัพย์ถึง 158 หลักทรัพย์ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าร้อยละ 6.825 หรือมากกว่า 7 เท่าของเงินฝากประจำ 12 เดือน ดังนั้นอาจกล่าวว่า การลงทุนในหุ้นปันผลเป็นอีกทางเลือกของนักลงทุนและผู้มีเงินออมในการลงทุน ที่เน้นการลงทุนในระยะยาวโดยได้รับเงินปันผลเป็นเงินตอบแทน

หลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนต่อเงินปันผลสูงสุด 50 หลักทรัพย์แรก มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 16.54 โดยหลักทรัพย์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการ หมวดการแพทย์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีรายรับเป็นเงินสดทั้งหมด รองลงมาคือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดแฟชั่น

ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงสุด 50 อันดับแรก พบว่า เป็นหลักทรัพย์นอกกลุ่ม SET100 ถึง 27 หลักทรัพย์ ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า หลักทรัพย์ตัวกลางๆ หรือเล็กๆ ที่น่าสนใจในตลาดทุนไทยยังคงมีอยู่มาก มีหลายสาเหตุที่หลักทรัพย์เหล่านี้มีผลประกอบการดีและสามารถปรับตัวได้ใน สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1. เป็นธุรกิจที่มีรายรับเป็นเงินสดหรือให้เครดิตการค้าระยะสั้น เช่น ธุรกิจบริการด้านการแพทย์ ที่มีรายรับเป็นเงินสด หรือเป็นธุรกิจที่มีการควบคุมเกี่ยวกับเครดิตการค้าที่ดี ให้เครดิตการค้าระยะสั้น

2. เป็นธุรกิจที่มีลูกค้าหลักที่แน่นอนและเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ กลุ่มลูกค้าหลัก เช่น ธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีสื่อสาร หรือเป็นธุรกิจที่มีการทำสัญญาในการให้บริการระยะยาวกับลูกค้า ส่งผลให้ราคาค่าบริการไม่ปรับลดลงมาก เช่น ธุรกิจการขนส่งทางทะเล เป็นต้น

3. เป็นธุรกิจที่มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จากสร้างสมดุลของรายรับรายจ่าย ที่เป็นเงินตราต่างประเทศหรือทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้ากับธนาคาร พาณิชย์

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือ บางธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการค้า เช่น กลุ่มธุรกิจอาหารทะเล ที่เดิมฐานลูกค้าเป็นกลุ่มยุโรป อเมริกา ก็ได้มีการทำตลาดใหม่ในตลาดกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้านภาวะวิกฤติเศรษฐกิจน้อยกว่า เช่น ลูกค้ากลุ่มแอฟริกา เป็นต้น

ด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์ที่มีให้ Dividend Yield สูงสุด 50 อันดับแรก เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating Activities) พบว่า เกือบทุกบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก รวมกว่า 56,000 ล้านบาท แสดงว่า บริษัทเหล่านี้มีสภาพคล่องเพียงพอที่มีดำเนินงานและบริหารงานได้ เมื่อพิจารณาภาระหนี้สินจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt / Equity Ratio) พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9 เท่า ซึ่งถือว่ามีระดับหนี้สินค่อนข้างต่ำ

หลักทรัพย์คุณค่า (Valued Stock) มีความน่าสนใจแค่ไหนนั้น เราสามารถพิจารณาใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก ราคาตลาดปัจจุบัน น่าเข้ามาลงทุนหรือไม่ หากลงทุนระยะยาวมีโอกาสทำกำไรจากราคามากน้อยแค่ไหน ประเด็นที่ 2 หลักทรัพย์นั้นจ่ายปันผลดีแค่ไหน

ประเด็นแรก จากดัชนีหลักทรัพย์ (SET Index) ปี 2551 ปรับตัวลดลงจากปี 2550 ถึงร้อยละ 48 ซึ่งคาดว่าใกล้จุดต่ำสุดแล้ว กอปรกับข้อมูล P/E ของหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วง สิ้นปี 2551 - สิ้นเดือนมีนาคม 2552 ที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 7.26 เป็น 11.1 เท่า สะท้อนให้เห็นทิศทางขาขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้ามาถือเพื่อลงทุนระยะยาว

ประเด็นที่ 2 ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลนี้ พิจารณาจากความสามารถในการทำกำไร พบว่า จากข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เผยแพร่ใน www.settrade.com ซึ่งสำนักวิจัยต่างๆ ได้ประมาณการผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2552 เปิดเผยว่า ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ปี 2552 จำนวน 161 บริษัท (ประกอบด้วยบริษัทในกลุ่ม SET50 จำนวน 50 บริษัท และบริษัทจดทะเบียนนอกกลุ่ม SET 50 อีก 111 บริษัท) จะมีมูลค่าสูงถึง 354,417 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปี 2551 ทั้งนี้คาดว่าผลการขาดทุนอย่างมากในไตรมาส 4/2551 อันเนื่องจากการปรับลดลงของราคาสินค้าประเภทพลังงาน ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลที่จ่ายน่าจะเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้นักลงทุนได้ โดยพิจารณาเลือกลงทุนในหลักทรัพย์คุณค่า มีประวัติการจ่ายปันผลดี ฐานะการเงินมั่นคง และเน้นการลงทุนระยะยาว รับเงินปันผลเป็นรายปี และมีกำไรส่วนต่างราคาในระยะยาว ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจของนักลงทุนและผู้มีเงินออม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2427 17 พ.ค. - 20 พ.ค. 2552

Friday, May 15, 2009

อียูสั่งปรับ‘อินเทล’5หมื่นล. ฐานกีดกันคู่แข่งทำ การค้า

อียูสั่งปรับอินเทล 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ฐานกีดกันคู่แข่งทำ การค้า

อินเทล คอร์ป บริษัทผู้ผลิตชิปขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากสหรัฐ ถูกสหภาพยุโรป (อียู) สั่งปรับเงินเป็นมูลค่าถึง 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5 หมื่นล้านบาท) ในข้อหาใช้กลยุทธ์รุกตลาดชิปคอมพิวเตอร์อย่างหนัก เพื่อกีดกันคู่แข่งทางการค้า โดยคาดว่าการลงโทษดังกล่าวจะยิ่งกดดันให้รัฐบาลสหรัฐสืบสวนสอบสวนการดำเนิน งานของอินเทลต่อไป

รายงานแจ้งว่า การสั่งปรับอินเทลครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ อิงค์ (เอเอ็มดี) บริษัทคู่แข่งสำคัญของอินเทล ในฐานะผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเอเอ็มดีเป็นผู้ยื่นหนังสือฟ้องร้องอินเทล รวมทั้งโน้มน้าวให้ผู้รักษากฎหมายทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ให้รับคำร้องเรียนที่ระบุว่า อินเทลแทรกแซงบริษัท ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งในสหรัฐและ ต่างประเทศ ที่ทำข้อตกลงทางการค้ากับ เอเอ็มดี

“อินเทลเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในยุโรป ด้วยการจงใจดำเนินการขจัดคู่แข่งทางการค้าในตลาด อินเทลไม่ได้แข่งขันอย่างยุติธรรม ขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งลดสวัสดิภาพในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน” นีลี โครส คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันทางการค้าประจำอียู ระบุ

คณะกรรมาธิการอียูยังได้แจ้งให้อินเทลยุติการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด บางกลยุทธ์ในยุโรปด้วย แม้จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นกลยุทธ์ใด ขณะที่อินเทลระบุว่า ยังเคลือบแคลงต่อคำสั่งดังกล่าว แต่ก็จะดำเนินการตามที่ได้รับคำสั่ง ขณะที่ดำเนินการยื่นคำร้องขออุทธรณ์

“เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น กับอีกฝ่ายหนึ่งที่น่าจะกล่าวได้ว่าใช้นโยบายที่ต่ำทราม” พอล โอเทลลินี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอินเทล กล่าว ทั้งนี้กลยุทธ์การขายของอินเทลยังรวมถึงการหักคืนภาษีให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ ของบริษัทด้วย

ขณะที่ เดิร์ก ไมเยอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอเอ็มดี กล่าวว่า การตัดสินใจของอียูเป็นก้าวที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ตลาดที่มีการ แข่งขันทางการค้าอย่างแท้จริง

“เรากำลังมองไปยังอนาคตที่ผู้บริโภคเป็นเจ้าของตลาด ไม่ใช่อินเทล” ไมเยอร์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐก็ถูกอียูสั่งปรับเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.49 หมื่นล้านบาท) ในข้อหากีดกันทางการค้าเช่นกัน

Wednesday, May 6, 2009

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง - จงอย่าหมดศรัทธากับชีวิต - Part 2

ฝากข้อคิด “อย่าหมดศรัทธากับชีวิต”

ด้วยประสบการณ์ของชีวิตการทำงานที่มีอยู่มากมาย สวัสดิ์ให้ข้อคิดกับคนรุ่นใหม่ว่า “ไม่ ว่าชั่วโมงที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุดของชีวิตนี่ มันไม่สำคัญอะไรเลย สำคัญที่สุดคืออะไร วันไหนที่คุณหมดศรัทธาต่อสิ่งที่คุณเชื่อ คุณหมดศรัทธากับมันเมื่อไรนี่ คุณก็หมด จบ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีขนาดไหนก็ตาม

อย่าง ผมเชื่อว่าผมทำเหล็กผมต้องทำให้ได้ และทำให้ได้ดี ผมก็ทำได้สำเร็จหมดเลย ทำนิคมฯเหมือนกัน และเวลานี้ผมมีความเชื่อว่าเหล็กเวลานี้จะลงก็จริง แต่มันจะต้องขึ้นในเร็วๆนี้ นิคมฯก็เหมือนกัน ถูกไหม ดังนั้นวันไหนที่คุณหมดศรัทธาเมื่อไรกับสิ่งที่คุณเชื่อมาชั่วชีวิต วันนั้นคุณก็จบ ไม่ว่าคุณจะเก่งขนาดไหม เหตุการณ์บ้านเมืองจะดีขนาดไหน คุณก็จบ

ดังนั้นคุณจะเห็นว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ผมก็ยังอยู่กับธุรกิจของผม อย่างเก่งก็เอาบริษัทนี้ไป diversify อย่างที่ผมบอกคุณว่าเหมราชจะไปในทิศทางไหน และผมก็เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่เบรกเรา ว่าเราอยู่ในเซคเตอร์นี้เราจะ diversify ไม่ได้ ซึ่งสมัยก่อทำไม่ได้ บ้าฉิบหายนะ แต่เดี๋ยวนี้โอเค หากคุณทำที่ดิน ต่อไปคุณจะไปทำคอมพิวเตอร์ไฮเทคนี่ เมื่อก่อนนี้ต้องขออนุญาตเลยนะ เพราะว่าเขาแบ่งเซคเตอร์คุณไม่ถูกไง เราอยู่อสังหาริมทรัพย์ฯ ถือว่าเป็นการ diversify และในช่วงวิกฤติก็เป็นการ survive

ความคิดง่ายๆของผมมีเท่านั้นเอง ว่าใครอย่ามาขีดเส้นให้ผมเดินเลย อะไรก็แล้วแต่ที่ทำเงินให้บริษัทผม ผมจะทำทั้งนั้น พระเจ้าก็เบรกผมไม่ได้ ถูกหรือไม่ถูก หน้าที่ของคุณคือทำกำไรใช่ไหม แล้วทำไมคุณทำไม่ได้ ไม่ได้เพราะว่ากติกาไม่เปิดให้ทำ ? และตลาดหลักทรัพย์ฯก็เปลี่ยนไปแล้วด้วย เพราะว่าผมเคยโต้แยงประเด็นนี้ และผมก็ได้ทำ อย่างวันนี้โอเค ทำนิคมฯแล้วก็มานั่งจับเจ่าว่าทำอย่างไรดี เพราะว่าเซคเตอร์รถยนต์ก็ทรุด อะไรๆก็ตกต่ำลง เราก็ต้องมาคิดใหม่เลย เวลานี้จะทำอะไรต่อไป นิคมฯของผมนี่ ตอนที่ดีที่สุด ก็ขาย raw land ปาเข้าไปเกือบ 2 ล้าน เวลานี้เหลือ 6-7 แสนบาท ซื้อไหม why not ให้มันรู้ไปว่าช่วงชีวิตนี้พระอาทิตย์จะไม่ขึ้นอีกแล้ว ดังนั้นปัญหามันอยู่ที่ cash flow ของคุณ กับความยึดมั่นของคุณ เวลานี้คุณเป็นผู้สื่อข่าว เขียนคอลัมน์ วันไหนตื่นขึ้นมาหมดศรัทธากับอาชีพนี้ คุณจะทำอย่างไร

ถ้าเราหมดศรัทธากับสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอดชีวิต ก็จบ แม้สถานการณ์ทั้งโลกดีหมด คุณก็จบ”

ฟังดูแล้วสงสัยว่าสวัสดิ์เป็นคนที่เข้มแข็งได้มากขนาดนี้ได้อย่างไร

“มัน เป็นสิ่งจำเป็นนะครับ อาจจะพ่อแม่ในรุ่นนั้นมาจากเมืองจีน เขาก็เคี่ยวเข็ญเรา ถึงไม่ต้องเคี่ยวเข็ญเรา เราก็เห็น พ่อแม่ทำงานตัวเป็นเกลียวเลย เราก็ทำ และเราเริ่มต้นจากศูนย์เลย คนอื่นนะเขาบอกว่าเริ่มจากศูนย์แล้วมารวยเป็นร้อยล้านพันล้าน ผมเริ่มต้นชีวิตออกมานี่ผมเป็นหนี้อยู่ 200 กว่าล้านบาท เพราะว่ามันเป็นงานของครอบครัว แล้วเสร็จแล้วพี่ชายผมมีปัญหาขัดแย้งทางความคิด ผมก็ออกจากบริษัท พี่ชายผมเป็นคนทำ ทำไป 2 ปีเขาบอกไม่ทำแล้ว ให้ผมกลับไปทำดีกว่า ตอนนั้นโต้แย้งกัน เราก็มีหนี้อยู่แล้วเพราะผมก็ไปสร้างอะไรเยอะแยะ ผมกลับมานี่เท่ากับว่าผมเริ่มต้นใหม่โดยติดลบเกือบ 200 ลบ. มาวันนี้เป็นหนี้แสนกว่าลบ. โอ้โฮ มันฉิบหายเลย

แล้วเราต้องรู้ตัว เราเองว่าคุณมาจากไหน เราไม่ได้เอาเงินพ่อแม่เรามาทำ เพราะฉะนั้นคนที่เสียใจร่วมกับเราไม่มี หากเราเอาเงินพ่อแม่มา ลูกคนอื่นก็ว่าเอาได้ แต่ว่าของผม ผมทำมากับมือกับน้องชายผม เพราะงั้นเมื่อเจ๊ง ก็ผมทำเองและเจ๊งไปกับมือผม ถูกไหม แล้วอีกอย่างหนึ่งคุณเป็นหมายเลข 1 หรือ Number one ในบริษัท หากคุณไม่มั่นคงนี่ องค์กรก็เจ๊ง

เมื่อปี 1997 หากคุณไม่มั่นคง คุณเป็นเบอร์หนึ่งแล้ว จะทำอย่างไร? มันไม่มีเหตุผลที่คุณมานั่ง shaky ลูกน้องผมเสนอแผนประหยัดมาเมื่อปี 1997 ด้วยการปิดแอร์ เรื่องกาแฟ เป็นต้น ถูกผมด่าเลย ผมบอกว่าหากต้องทำสิ่งเหล่านี้แล้วบริษัทอยู่รอดได้ ก็เจ๊งมันเสียเลยดีกว่า ถามว่าประหยัดเดือนละเท่าไร หลายๆบริษทก็ประมาณแสนบาทได้ ผมว่าจะบ้าหรือเปล่า

เพราะงั้นสิ่งแวด ล้อมบังคับให้ผมต้องแข็งแรง เพราะวันนั้นนี่ลูกผม หลานผม คนงานผมเป็นพันคน ยังเรียนหนังสืออยู่เมื่อ 1997 สิบกว่าปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้บังคับให้คุณต้องแข็งแรง ต้องอยู่ให้ได้ บอกตรงๆผมไม่ได้สนใจเจ้าหนี้หรอก ผมสนใจคนของผม หากผมสนใจเจ้าหนี้ ผมคงต้องพูดเพราะๆ ไม่มี “3 ไม่” ใช่หรือเปล่า แต่ว่าผลกระทบมันจะกลับไปให้แบงก์เอง เพราะผมอยู่แก้ไขใช่ไหม ผมบอกแล้วว่าผมไม่หนี ผมไม่เคยสอนให้ใครโกง

ชีวิตของผมคือการลงทุน มันก็ถูกต้อง มันแน่นอนเป็นการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งน้ำพักน้ำแรง ความคิด แต่ส่วนหนึ่งแม้ชีวิตจะคือการลงทุน มันก็ยังไม่ถึงเป้า มันต้องสู้ด้วย ซึ่งใครๆก็พูดมานานแล้วว่าชีวิตต้องสู้ Never give an inch. นิ้วหนึ่งกูก็ไม่ถอยให้มึง”

[ คอลัมน์ Cover Story โดย ภัชราพร ช้างแก้ว นิตยสาร M&W เมษายน 2552 ]

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง - จงอย่าหมดศรัทธากับชีวิต - Part 1

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เป็น คนที่มีตำนาน เขาไม่ใช่นักธุรกิจแบบทั่วๆไป แต่เป็นคนที่มีสีสัน มีชีวิตที่โลดโผนและต่อสู้มาตลอด แม้ในวัย 68 ปีในทุกวันนี้ ซึ่งหลายคนอาจคิดวางมือ ส่งผ่านธุรกิจให้รุ่นลูกรุ่นหลานดูแลรับช่วงต่อ แต่สวัสดิ์ไม่เคยคิดเช่นนั้น ลูกๆของเขาต่างมีธุรกิจของตนเอง ลูกชายรับช่วงธุรกิจบางอย่างจากเขา ส่วนลูกสาวมีธุรกิจเล็กๆที่น่ารัก แต่ในใจเขานั้นไม่เคยคิดเกษียณจากการทำงาน งานคือชีวิตของคนไฮเปอร์อย่างสวัสดิ์ จะทำงานไปจนกว่าจะทำไม่ไหว ชีวิตของเขาแน่นอนเป็นการลงทุนอยู่แล้ว ลงทุนทั้งในแง่น้ำพักน้ำแรงและความคิด แต่แม้ชีวิตจะคือการลงทุน มันก็ยังไม่ถึงเป้า มันต้องสู้ด้วย ซึ่งใครๆก็พูดมานานแล้วว่าชีวิตต้องสู้ และชีวิตของสวัสดิ์นั้นเป็นประเภท Never give an inch. “นิ้วหนึ่งกูก็ไม่ถอยให้มึง”

วิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”ปี 1997 ทำให้ธุรกิจเหล็กมูลค่าแสนล้านของเขาต้องล่มสลาย เขาต้องเป็นหนี้สินมากมาย เข้าร่วมในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อหาหนทางใช้หนี้คืนให้สถาบันการเงิน หลังจากเวลาผ่านไป 10 กว่าปี กิจการที่เคยนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯถึง 3 แห่ง กลับเหลืออยู่ในมือเพียงแห่งเดียว

ทฤษฎีเก่าๆใช้ไม่ได้แล้ว พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป

โลก ในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดหรือจะได้เห็นในคนรุ่นหนึ่ง ก็สามารถเกิดขึ้นได้ สวัสดิ์เน้นย้ำกับทีมงานเป็นประเด็นแรกของการสนทนาว่าในยามนี้ทฤษฎีหรือแนว คิดเก่าๆที่มีอยู่ต่างใช้อธิบายโลกและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ได้ “ผมไม่เชื่อ Kuru คนใดทั้งนั้น ที่ดร.หรือนักเศรษฐศาสตร์มาพูดว่าอีก 2 ปีจะดี อีก 3 ปีดี 5 ปีดีนี่ No one knows. เพราะเวลานี้ นี่ผมคิดแบบคนที่ไม่ได้เรียนอะไรมา แต่ว่าอยู่ในวงการธุรกิจ ทฤษฎีเก่าๆใช้ไม่ได้หมดแล้ว เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปแล้ว นักธุรกิจเปลี่ยนหมด เวลานี้คนไร้จริยธรรมมีมากขึ้น”

เขา อ้างถึงในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าธนาคารชาติอังกฤษได้จัดพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่ออัดฉีดเงินใส่ เข้าไปในระบบการเงินของประเทศจำนวน 150,000 ล้านปอนด์ และคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้เงินปอน์ดมีค่า 1 ปอนด์เท่ากับ 1.20 เหรียญดอลลาร์ หรือเท่ากับ 40 บาท เหตุการณ์นี้ทำห้สวัสดิ์คิดว่า “วันนี้ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์การเงินคนใดที่จะอ่าน sign ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่รู้จริงๆว่าอเมริกาอัดเงินเข้าไปในเซคเตอร์การเงินนี่ ก็ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นอย่างไร พออัดเงินเข้าไปสักพัก หุ้นก็ลง วอลล์สตรีทดัชนีเหลือ 7,000 เท่านั้น จากเดิมอยู่ที่ 14,000 และยังไม่รู้ว่า bottom line อยู่ตรงไหน”

สวัสดิ์เปรียบเทียบวิกฤติ ครั้งนี้กับครั้งที่เขาเจอว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะในยุคหลังนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับมีการวางกฎกติกาต่างๆชัดเจน มากขึ้น “กฎหมายมีการปิดช่องโหว่และกำหนดบทลงโทษค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะสำหรับ auditor หรือผู้สอบบัญชีที่จะตรวจสอบบริษัท แล้วบริษัทที่อยู่ใน ตลท.ก็ถูกวางกติกาไว้ มีกรอบแข็งแรงมาก ไม่ว่ากรรมการภายนอกที่เข้ามาต้องมีความรับผิดต่างๆหรือ liability สูงมาก ในเมื่อวางบทลงโทษและปิดช่องโหว่ทางกม.ไปหมดแล้ว ตอนนี้อะไรเกิดขึ้น คนที่ตั้งใจจะคดโกงเริ่มหาทางออกไม่ได้ มันก็โกงซึ่งๆหน้าหมด ไม่ต้องมี tactic อะไรเลยเพราะเขาล้อมไว้หมดแล้ว มันก็เอาเงินออกไปเลยไง ถูกไหม หน้าด้านๆเอาเงินออกไปเลย และหนีไปเลย

ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยนะ อเมริกาก็เหมือนกัน คนจะหาช่องโหว่ หา tax consultant มาหาทางออก ว่าจะโกงแบบนี้ๆ ได้ไหม เวลานี้มันถูกล้อมกรอบจนออกไม่ได้ มันก็เอาเงินไปเฉยๆเลย เหมือนกับโกงซึ่งๆหน้า อย่างเวลานี้นักธุรกิจที่มีชื่อดังๆหลายคนในประเทศ ก็หอบเงินหนีหมด เอาลูกเมียไป หนีหมด คือไม่ได้โกงแบบมีเทคนิคแล้ว ไม่ต้องแล้ว เพราะว่าถูกล้อมจนหาทางออกไม่ได้แล้ว

อย่างในคัมภีร์ไบเบิลมีคำสอน ว่า ถึงแม้พระเจ้าจะปิดประตู แต่ในเวลาเดียวกันพระเจ้าก็เปิดหน้าต่างเอาไว้ แต่เวลานี้ดันปิดหน้าต่างอีก ไม่มีทางออกเลย มันก็เลยเผาบ้านเลย ถูกไหม คุณเห็นไหมว่าทุกบริษัทที่โกงๆกันนั้น ไม่มีเทคนิคอะไรเลย

จริยธรรม ไม่ต้องมีแล้ว เพราะว่ามันถูกล้อมกรอบจนใช้สันดานดิบของมนุษย์แล้ว ตอนนี้อะไรเกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน อเมริกาบังคับสวิสเซอร์แลนด์ให้เปิดเผยบัญชีลับทุกบัญชี ทางสวิสก็บอกว่าไม่เปิด แต่ว่าขอยอมจ่ายค่าปรับไป 700 ล้านเหรียญใช่ไหม ที่เป็นข่าว ดังนั้นเวลานี้เราก็คิดแบบคนที่ไม่ได้จบทางการเงินเลย มันมีคนเสียและคนได้ ไอ้คนที่ได้ก็โกงไปน่ะ แล้วเงินไปไหน

เพราะดัง นั้นเราคิดแบบคนที่ไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์การเงินเลย คิดแบบมนุษย์คิดเลยว่ามันก็คงต้องไปซ่อนอยู่กับแบงก์แบบนี้แหละ ที่สิงคโปร์ สวิส หรือเกาะใดเกาะหนึ่ง เขาอยากจะรู้ว่าบัญชีฝากเงินพวกนี้มีใครบ้าง ให้แบงก์สวิสเปิด แต่ว่าแบงก์สวิสไม่ยอมเปิด ถูกไหมครับ มันต้องมีคนได้คนเสีย คนที่ได้อาจจะมีไม่กี่คน แต่ว่าใครล่ะ

ในชั่วโมงที่เศรษฐกิจดีทั้ง โลกนั้น มันก็มีทั้งคนที่รวยและเจ๊ง ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดี ทุกคนจะรวยหมด มันไม่ใช่ และในชั่วโมงที่เลวสุดอย่างนี้ มันก็ต้องมีคนรวย มันไปไหนล่ะ ไม่ใช่ว่าจนกันหมดทั้งโลกนะ”

สวัสดิ์ยอมรับแม้กระทั่งตัวเขาที่ผ่าน ทั้งยุครุ่งโรจน์และร่วงโรยของการทำธุรกิจ “ผมมองวันนี้นี่ อ่าน sign ไม่ออกเลย” สมัยก่อนที่สวัสดิ์ทำธุรกิจ เขาบอกว่าจ่ายดอกเบี้ย อย่างต่ำคือกู้จากแบงก์ 12% บางครั้ง 15% หรือ 18% เขายังอยู่ได้ และโตมาเรื่อย แต่วันนี้อะไรเกิดขึ้น ดอกเบี้ย 5% กลับอยู่ไม่ได้

เพราะ อะไร “ก็อยู่ๆตลาดหายหมดเลยนี่ แล้วเวลานี้ผมดูรัฐบาลทุกคนอัดเงินเข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรก็ตาม และไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์ทำคนเดียว ทุกประเทศเขาก็ทำกัน แต่ว่าส่วนหนึ่งเพื่อจะเสริมสร้าง purchasing power หรือกำลังซื้อให้แข็งแรง แต่ในเวลาเดียวกันคุณก็ทำลายกำลังซื้อที่แท้จริงไปอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มคน ที่มีเงินฝาก อย่างสมมติคนที่เกษียณแล้วมีเงินฝาก 3-4 ล้านบาท เมื่อก่อนนี้ดอกเบี้ย 8-10% คุณยังมีเงิน 20,000-30,000 บาทใช้ทุกเดือน แต่วันนี้ส่วนนี้หายไปแล้ว มันเหลือครึ่งเปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้อย่างไร คนพวกนี้ตายแล้ว กำลังซื้อจริงๆส่วนนี้หายไป แต่ว่าเราก็ไปสร้างกำลังซื้อเทียมมาเพื่อเอาเงินมาแจก ไม่ว่าจะเป็นเช็คหรือคูปองก็ตามแต่ เพราะว่าทั่วโลกเขาก็ทำกัน ผมไม่ได้ตำหนิรัฐบาลไทยนะ เพราะว่ามันไม่มีทางออกอยู่แล้ว ญี่ปุ่นก็เคยแจกเงิน เกาหลีก็แจก อเมริกาก็แจก ถูกไหม แต่ว่าคนที่ไม่ต้องพึ่งใครเลย มีเงินฝากไว้ เกษียณมาไม่ต้องพึ่งใครเพราะมีเงินฝาก สมมติ 2 ล้านบาทสมัยก่อนได้ 10% ก็ได้ปีละ 200,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 16,000 บาท ก็พอใช้ได้ อยู่ได้สบาย แต่วันนี้กลุ่มนี้หายไปแล้ว จะไปเรียกร้องเขาบอกว่ามาลงทุนเถอะ ไม่ว่าจะเป็นตลาดบอนด์ ตลาดหุ้น หรืออะไรก็ตามแต่นี่ คนเหล่านี้เขาไม่เคยมีความรู้ คุณคิดว่าจะเอาเงินเขามาได้หรือ แม้กระทั่งเวลานี้กองทุนต่างๆก็เจ๊ง ใช่หรือเปล่า ดังนั้นจะไปสนอเขาว่ามาลงทุนในตลาดไหนก็ตาม เวลานี้คือไปสอนคนที่ไม่เคยเล่นไม่เคยลงทุนเลย แล้วมาเรียนหนังสือ มาเรียน ก ข เพื่อที่จะลงทุน และโลกการเงินเป็นแบบนี้ เขาก็ไม่มาหรอก ได้แค่ครึ่งเปอร์เซนต์เขาก็ฝากทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น วันนี้ผมไม่เชื่อนักเศรษฐศาสตร์คนไหนที่จะมาพูดเลยว่าอเมริกาอัดฉีดเงินเข้า มา 70,000 กว่าล้านล้านเหรียญ แล้วจะดีขึ้น วันนี้ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น พอผ่านสภาฯเป็นอย่างไร หุ้นตกทันที

เวลานี้คุณไปสัมภาษณ์ใครก็น่า เบื่อ เห็นไหม อ่านวิเคราะห์ตอนเช้า ก็บ้าแล้ว และรัฐบาลเอาเงินไปแจก ถูกต้อง แต่ว่าคนกลุ่มหนึ่งที่พึ่งตัวเองได้ในอดีต กลับพึ่งไม่ได้แล้ว เงินฝากของเขาไม่มีผลอะไรเลย เพราะฉะนั้นคนซื้อกลุ่มนี้ที่เป็น Real Purchasing Power หายไปเลย เผลอๆต่อไปต้องจ่ายค่ารักษาเงินให้ธนาคารด้วยกระมัง ครึ่งเปอร์เซนต์ก็ไม่ได้แถมยังต้องจ่ายเงินให้แบงก์ด้วย”

[ คอลัมน์ Cover Story โดย ภัชราพร ช้างแก้ว นิตยสาร M&W เมษายน 2552 ]